ชื่อ : ชุมชนโบราณเมืองสุรินทร์

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ
ชุมชนโบราณ เมืองโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์

ที่ตั้ง
เทศบาลเมืองสุรินทร์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ละติจูด 14.884330                ลองจิจูด 103.490522

อาณาเขต
ทิศเหนือ                    ติดต่อกับ         ตำบลแกใหญ่ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ทิศตะวันออก             ติดต่อกับ         ตำบลสลักได อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ทิศใต้                         ติดต่อกับ         ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ทิศตะวันตก                ติดต่อกับ         ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

เทศบาลเมืองสุรินทร์ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ อุตสาหกรรมและการคมนาคม จึงมีเส้นทางคมนาคมหลักทางรถยนต์หลายสายได้แก่ 1. สาย 226 จังหวัดสุรินทร์ไปศรีสะเกษสุรินทร์ 2.สาย 214 สุรินทร์ไปจังหวัดร้อยเอ็ดและยโสธร 3.สาย 214 จังหวัดสุรินทร์ไปชายแดนกัมพูชาย่านช่องจอมจังหวัดสุรินทร์ 4.สาย 226 จากสุรินทร์ไปจังหวัดบุรีรัมย์ 5.จากจังหวัดสุรินทร์ไปกรุงเทพมหานครประมาณ  454 กิโลเมตร และโดยทางรถไฟจากกรุงเทพมหานครผ่านจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ประมาณ 420 กิโลเมตร ศรีสะเกษ และสิ้นสุดที่จังหวัดอุบลราชธานี

พื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์มีกลุ่มชนเข้ามาตั้งชุมชนแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย  ลักษณะชุมชนเป็นเนินดินมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ  ขนาดกว้างประมาณ  1,000  เมตร  ยาวประมาณ  1,300  เมตร   เป็นลักษณะเฉพาะของแผนผังเมืองโบราณตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นซึ่งพบทั่วไปในเขตภาคอีสานตอนล่าง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมืองสุรินทร์ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่  95  ตอนที่  98  ลงวันที่  19  กันยายน  2521

ตั้งอยู่ที่เขตเทศบาลเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัด สุรินทร์ มีลักษณะคูคันดิน 2 ชั้น แบ่งพื้นที่เมืองออกเป็น 2 ส่วน คือชุมชนโบราณชั้นในกับชุมชนโบราณชั้นนอก โดยมีกำแพงดินและน้ำชั้นในกั้นพื้นที่สองบริเวณนี้ สำหรับบริเวณพื้นที่ชุมชนโบราณชั้นใน จะเป็นลักษณะคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นรูปวงรี
แนวเส้นไม่สม่ำเสมอสันนิษฐานว่าน่าจะมีความเก่าแก่ อยู่ในยุคสมัยศิลปะทวาราวดี ส่วนบริเวณพื้นที่ชุมชนชั้นนอก จะมีกำแพงดินและน้ำขนาบข้างสองด้านล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ซึ่งเป็นลักษณะชุมชนโบราณสมัยศิลปะลพบุรี เป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่มากเป็นพิเศษมีพื้นที่รวม 4,831 ตารางกิโลเมตรหรือ 3,019.375 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ ชุมชนโบราณชั้นในมีพื้นที่ 1,645 ตารางกิโลเมตรหรือ 1,028,125 ไร่ และพื้นที่ชุมชนโบราณชั้นนอก มีพื้นที่ 3.186 ตารางกิโลเมตรหรือ 1,991.25 ไร่ (บุญสม สังข์สาย 2545 : 27)

ปัจจุบันเทศบาลเมืองสุรินทร์ได้อนุรักษ์คูน้ำคันดินด้วยการพัฒนาพื้นที่ทำเป็นสวนหย่อมและบำรุงรักษาให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม เช่น บริเวณกำแพงดินชั้นในบริเวณหน้าวัดพรหมสุรินทร์จนถึงสี่แยกต้นโพธิ์ และพัฒนาคูน้ำบริเวณหน้าวัดจุมพลสุทธาวาส และมุมสี่แยกวัดหนองวัด พัฒนาคูน้ำกำแพงเมืองต่างๆ ให้เป็นสวนสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนอันเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งบางแห่งมีการบุกรุกทำเป็นที่อยู่อาศัย เนื่องจากการแสวงหาพื้นที่ทำกินของประชาชน ส่งผลให้สภาพปัจจุบันของกำแพง-คูเมือง บางส่วนถูกรุกล้ำทำลายเสียหายไป หลายจุดถูกสร้างทับด้วยอาคารสมัยใหม่ เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนและความเจริญของตัวเมือง
นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐได้สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยให้ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะประชาชนที่มีส่วนได้เสีย เข้าถึงข้อมูลข่าวสารสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมทั้งเสนอหรือร่วมมือกันในด้านการอนุรักษ์ให้มีทิศทางที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตัวเอง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และอนาคตของคนในท้องถิ่นและได้ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าสุรินทร์

1.บารายชุมชนโบราณเมืองสุรินทร์ที่ปรากฏในชุมชนโบราณเมืองสุรินทร์ นอกจากจะเป็นคนรอบชุมชนโบราณที่มี 3 ชั้นล้อมรอบตัวเมืองแล้ว ในส่วนสระน้ำขุดรูปสี่เหลี่ยม ผืนผ้าที่มีขนาดเล็กจะกระจายอยู่ในพื้นที่ชุมชนภายในชุมชนโบราณทั้งชั้นในและชั้นนอก ส่วนบาราย ขนาดใหญ่ของชุมชนโบราณแห่งนี้จะอยู่ทางทิศตะวันออกถัดจากคูคันดินชั้นนอกที่มีบริเวณกว้างขวาง แต่เดิมบริเวณนี้ชาวบ้านเรียกว่า “เวียลเวญ”๑๓ เพราะบริเวณนี้เคยเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ยาวตลอดแนว จากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วได้พบลักษณะคันดินปิดกั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้าย บารายขนาดใหญ่ (ทิวา ศุภจรรยา 2536 : 6) ปัจจุบันถูกถมเป็นสถานที่ราชการคือเป็นที่ตั้งโรงเรียน คือโรงเรียนสุรวิทยาคาร โรงเรียนสิรินธร โรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ โรงเรียนเมืองสุรินทร์ วิทยาลัย คือ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ วิทยาลัยอาชีวะศึกษาสุรินทร์ และโรงพยาบาลสุรินทร์ สำหรับบริเวณทิศตะวัน ตกของชุมชนโบราณเมืองสุรินทร์บริเวณบารายรับน้ำจะอยู่หลังคูเมืองชั้นในอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด โคกบัวรายเรียกว่า “หนองบาราย” หรือ “หนองบัวราย” ซึ่งมีร่องรอยการขุดคันดินกั้นเป็นที่กักเก็บน้ำ ส่วนทิศเหนือจะมีบารายรับน้ำ 2 แห่งอยู่นอกกำแพงและคูเมืองชั้นนอก คือ หนองดุม และหนองบัว ดังนั้นชุมชนโบราณเมืองสุรินทร์จึงมีบารายอยู่ 4 แห่งคือทางทิศตะวันออก 1 แห่ง ทิศตะวันตก 1 แห่ง และทิศเหนือ 2 แห่ง เพื่อใช้ประโยชน์ในการกักเก็บน้ำและระบายน้ำออกไปเพื่อป้องกันน้ำท่วมในตัวเมือง
2.แนวคูน้ำ – คันดินแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ เมืองชั้นในและเมืองชั้นนอก จากการสำรวจของหน่วยศิลปากรที่ 6 ในปี พ.ศ. 2534 เมืองชั้นใน มีลักษณะเป็นรูปวงรีแบบสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น มีขนาดกว้างประมาณ 1,000 เมตร ยาวประมาณ 1,300 เมตร สภาพคูเมืองค่อนข้างสมบูรณ์ มีบางส่วนเท่านั้นที่ขาดหายไป เมืองชั้นนอก มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบชุมชนขอมโบราณ มีคูน้ำ 2 ชั้น คันดิน 1 ชั้นล้อมรอบ ขนาดกว้าง 1,500 เมตร ยาว 2,500 เมตร สภาพคูเมืองค่อนข้างสมบูรณ์ ยกเว้นด้านทิศใต้

สุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเป็นมายาวนาน จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ข้อมูลในพงศาวดาร เรื่องเล่าตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา เป็นที่อยู่ของชนหลายเผ่าพันธุ์ทั้ง ไทย เขมร ลาว กวยหรือกูย ทำให้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ตัวเมืองเมืองสุรินทร์ โดยพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์มีมนุษย์เข้ามาตั้งชุมชน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ลักษณะชุมชนเป็นเนินดินมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ขนาดกว้างประมาณ 1,000 เมตร ยาวประมาณ 1,300 เมตร เป็นลักษณะเฉพาะของแผนผังเมืองโบราณตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นซึ่งพบทั่วไปในเขตภาคอีสานตอนล่าง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองสุรินทร์ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 98 ลงวันที่ 19 กันยายน 2521 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองสุรินทร์ในอดีต ตลอดจนถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของชาวสุรินทร์ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม ได้แก่ ด้านการค้าขาย ด้านการพานิชยกรรม และด้านการบริการ คนในท้องถิ่นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณีความเป็นอยู่ เนื่องจากประชากรที่พูดภาษาต่างกัน 3 กลุ่ม หรือ “กลุ่มชาติพันธ์สุรินทร์ 3 เผ่า” คือ เขมร กูย และลาว แต่กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีความสามัคคี อยู่ร่วมกันอย่างสงบ ต่างได้รักษาวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ของตนไว้เป็นอย่างดี และเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น