ชื่อ : ชุมชนโบราณบ้านพระปืด

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

ชุมชนโบราณ เมืองโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์

ที่ตั้ง

บ้านพระปืด ตำบลบ้านแร่ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

ละติจูด 14.9652717                 ลองจิจูด 103.5851632

อาณาเขต

ทิศเหนือ                      ติดต่อกับ         เทศบาลตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์

ทิศตะวันออก              ติดต่อกับ         บ้านอากลัว ตำบลบ้านแร่

ทิศใต้                          ติดต่อกับ         บ้านโสน ตำบลแสลงพันธ์

ทิศตะวันตก                ติดต่อกับ         บ้านบึง ตำบลบ้านแร่

ชุมชนโบราณบ้านพระปืด ตั้งอยู่ที่ ม.2 บ้านพระปืด ต.บ้านแร่ อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสุรินทร์-จอมพระ ถึงหลักกิโลเมตรที่ 14 ให้เลี้ยวขวาตามถนนนาตัง-ศีขรภูมิ ประมาณ 4 กิโลเมตร จนถึงสี่แยกวัดโพธิ์รินทร์วิเวก          บ้านเขวาสินรินทร์ ให้เลี้ยวขวาอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ผ่านบ้านแร่ ก่อนจะเข้าสู่บ้านพระปืดทางด้านทิศเหนือ

มีลักษณะเป็นเนินดินบนพื้นที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำ พื้นที่โดยรอยเป็นพื้นที่ราบมีลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย

บ้านพระปืด แต่เดิมมีชื่อว่า บ้านประปืด ซึ่งสันนิษฐานว่า คำว่า “ประปืด” คงเพี้ยนมาจากคำว่า “เปรียะปืด” ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างภาษาพื้นเมืองเขมร กับภาษากูย เพราะคำว่า “เปรียะ” ในภาษาพื้นเมืองเขมร แปลว่า “พระพุทธรูป” คำว่า “ปืด” เป็นภาษากูย แปลว่า “ใหญ่” บ้านพระปืดมีพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่เป็นพระประธานในโบสถ์ ในวัดบ้านพระปืด หมู่บ้านพระปืด  มีลักษณะการก่อสร้างคล้ายคลึงเมืองสุรินทร์  แต่มีขนาดเล็กกว่า  โดยมีคูน้ำ และกำแพงดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบเดียวกัน   ซึ่งส่วนใหญ่ได้มีการอนุรักษ์ไว้  และคงรูปเดิมได้มากที่สุด  เชื่อกันว่าในอดีตคงจะเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่ง  เคยมีถนนโบราณออกจากเมืองสุรินทร์  ทางทิศตะวันออกขนาดกว้าง  12 เมตร  สูงประมาณ 1 เมตร  ผ่านบ้านแสตง  บ้านหนองตะครอง  บ้านภูดิน ไปถึงบ้านพระปืด  และเลยไปยังบ้านแสรออ ที่มีปราสาทโบราณ (ปราสาททอง)  อยู่ด้วย 1 แห่ง  แต่บัดนี้ได้ถูกบุกรุกเป็นที่นาไปหมดสิ้นแล้ว  จากตำนานคำบอกเล่าที่เป็นที่มาของบ้านพระปืด หมู่บ้านพระปืดจะสร้างมาแต่เมื่อใดและใครเป็นผู้สร้างไม่อาจที่จะค้นคว้าหาหลักฐานได้  เพราะไม่พบศิลาจารึก  หรือการจดลายลักษณ์อักษรไว้แต่อย่างใด    แต่สันนิษฐานว่า  คงสร้างรุ่นราวคราวเดียวกับเมืองปทายสมันต์ในอดีต (เมืองสุรินทร์)  ประมาณ 2,000 ปี เศษมาแล้วตัวเมืองประทายสมันต์ตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีชุมชนโบราณรอบๆ ที่เป็นเมืองบริวารอีก 4 แห่งคือ

1. ชุมชนโบราณบ้านสลักได

2. ชุมชนโบราณบ้านแสลงพัน

3. ชุมชนโบราณบ้านพระปืด

4. ชุมชนโบราณบ้านแกใหญ่

ชุมชนโบราณบ้านพระปืด บริเวณโดยรอบเป็นทุ่งนา สภาพของแหล่งเป็นเนินดินที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ บริเวณที่สูงที่สุดเป็นบริเวณวัดประสาทพระแก้ว แหล่งเดิมเป็นป่าทึบ ปัจจุบันกลายสภาพเป็นป่าโปร่งบางส่วน คูน้ำคันดินมีการลุกล้ำทำเป็นถนนและที่อยู่อาศัยบางส่วน เพื่อความสะดวกของชุมชน

ชุมชนโบราณบ้านพระปืด จ.สุรินทร์ ปรากฏร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยปรากฏเนินดินที่มีขนาดสูงใหญ่ มีชั้นทับถมของเศษภาชนะดินเผาในระดับที่ลึกลงไปจากผิวดิน แสดงถึงการมีกิจกรรมการอยู่อาศัยของมนุษย์ซ้อนทับถมกันมาเป็นระยะเวลานาน และคูน้ำชั้นในปรากฏสภาพให้เห็นอย่างชัดเจนทุกด้านและมีการขุดลอกแล้ว มีเพียงบางช่วงเท่านั้นที่ถูกรุกล้ำทำเป็นถนนและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ภายในตัวแหล่งระหว่างชายเนินของหมู่บ้านกับคันดินชั้นในด้านทิศเหนือมีหนองน้ำขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งเรียกว่า “หนองผือ” และตรงบริเวณระหว่างชายเนินวัดปราสาทแก้วกับคันดินชั้นในด้านทิศตะวันออกก็มีหนองน้ำขนาดใหญ่อีกแหน่งหนึ่ง แต่ปัจจุบันหนองน้ำบางส่วนถูกถมเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของชุมชน

ชุมชนโบราณบ้านพระปืด ลักษณะเป็นเนินดินที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ แผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ  เมตร ยาวประมาณ 1,000 เมตร ประกอบไปด้วยคูน้ำ 2 ชั้น และคันดิน 3 ชั้น สูงจากพื้นที่โดยรอบที่เป็นทุ่งนาประมาณ 4 เมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 158 เมตร จุดสูงสุดของเนินอยู่บริเวณวัดปราสาทแก้ว และเนินดินทางทิศเหนือของวัด พื้นที่มีความลาดเอียงจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก

ชาวบ้านส่วนมากประกอบอาชีพทำนา และรับจ้างทั่วไป หนุ่มสาวบางส่วนอพยพไปทำงานที่อื่น เมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวและกลับมาภูมิลำเนาเดิมเพื่อเริ่มฤดูเพาะปลูก รายได้ของหมู่บ้านจึงขึ้นอยู่กับการขายข้าว และส่วนหนึ่งมาจากค่าจ้างแรงงาน ปัจจุบันหน่วยงานราชการและชาวบ้านได้อนุรักษ์และบูรณะให้อยู่ในสภาพดี เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อให้ชุมชนมีรายได้