วัดเพชรบุรี
วัดเพชรบุรี เป็นวัดราฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ ตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชนชาวตำบลทุ่งมน มานานอย่างน้อย 221 กว่าปี ในปีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2542 ได้รับการอนุญาตให้ตั้งวัดอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการประกาศจัดตั้งหมู่บ้านตาปาง ตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ อีกด้วย จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า “เมื่อหลวงพ่อเพชร หลวงพ่อแก้ว นำพาคณะสงฆ์และญาติโยมมาร่วมสร้างวัดใหม่แล้ว ประชาชนชาวบ้านทุ่งมนที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสได้พากันอพยพย้ายครัวเรือนมาตั้งถิ่นฐานที่อยู่ใหม่ตรงบริเวณบ้านตาปาง บ้านตาดอก บ้านสมุด เพื่อจะได้ร่วมกันทำนุบำรุงอุปถัมภ์ค้ำชูวัดแห่งใหม่นี้” การปกครองท้องที่ของราชการบ้านเมืองนั้น ในปี พ.ศ. 2530 อยู่ในเขตพื้นที่บ้านตาปาง หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ต่อมาเมื่อมีการแบ่งเขตการปกครองคณะสงฆ์ตำบลทุ่งมนขึ้นมาใหม่ วัดเพชรบุรีจึงถูกเปลี่ยนแปลงจัดให้อยู่ในเขตการปกครองท้องที่บ้านทุ่งมน หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ และในปี พ.ศ. 2536 หน่วยงานราชการได้แบ่งแยกเขตการปกครองตำบลทุ่งมนออกเป็น 2 ตำบลคือ 1 ตำบลทุ่งมน มี 11 หมู่บ้าน 2 ตำบลสมุด มี 8 หมู่บ้าน วัดเพชรบุรีจึงเป็นส่วนหนึ่งในเขตการปกครองท้องที่ของบ้านทุ่งมนตะวันออก บ้านเลขที่ 106 หมู่ที่ 1 ตำบลสมุด อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ 32140
วัดเพชรบุรี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2371 เขตวิสุงคามสีมามีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร เดิมชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดทุ่งมนตะวันออก” โดยตั้งแต่แรกบุกเบิกสร้างวัดนั้นที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินป่าไม้รกทึบ ภายหลังมีนายกฤษ – นางอี แก้วแบน, นายแก้ว – นางกลัด ลับแล,
นายบูรณ์ ศรีราม, นายมี –นางมิ่ง จงมีเสร็จ, นายกอง จงมีเสร็จ (พี่ชายหลวงพ่อแก้ว) พุทธศาสนิกชนและประชาชนชาวบ้าน ร่วมกันมอบถวายหนังสือเอกสารที่ดินให้วัดเมื่อ พ.ศ. 2355 และได้อาราธนานิมนต์พระเดชพระคุณหลวงปู่เพชร พำนักจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดรูปแรก ภายหลังจากหลวงปู่เพชรมรณภาพ หลวงปู่แก้วได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปใหม่และเจ้าเมืองสุรินทร์ในสมัยนั้นได้ออกว่าราชการตรวจเยี่ยมวัด เจ้าเมืองสุรินทร์รับทราบว่า “วัดแห่งนี้หลวงปู่เพชรเป็นผู้นำพาคณะสงฆ์และประชาชนบุกเบิกสร้างวัดมาโดยตลอด” เจ้าเมืองสุรินทร์จึงได้ ขอเทิดทูนเกียรติคุณของหลวงปู่เพชรและตั้งชื่อวัดทุ่งมนตะวันออกใหม่ว่า “วัดเพชรบุรี”
หลวงปู่แก้ว เจ้าอาวาสวัดเพชรบุรีรูปที่ 2 ได้สั่งสอนคณะสงฆ์และนำพาญาติโยม ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน ด้วยความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่ง จนเป็นที่ประจักษ์ตาต่อเจ้าคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ในยุคนั้น จึงได้ออกประกาศแต่งตั้งให้หลวงปู่แก้วเป็นอุปัชฌายะ มีตำแหน่งหน้าที่เป็นประธานในการให้บรรพชาอุปสมบทให้แก่กุลบุตร ได้สั่งสอนกุลบุตรให้เว้นกิจควรเว้น ประพฤติกิจควรประพฤติ ในหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนาตลอดไป พุทธศาสนิกชนศิษยานุศิษย์จึงเรียกหลวงปู่แก้วอย่างเป็นทางการว่า “หลวงปู่พระอุปัชฌาย์แก้ว”
ภายหลังจากที่หลวงปู่พระอุปัชฌาย์แก้วมรณภาพแล้ว ได้มีบูรพาจารย์หลายรูปคือ หลวงปู่วาง หลวงปู่วอน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่ลาน ครองวัดดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตามลำดับมาบางรูปก็มรณภาพ บางรูปก็ลาสิขาบท บางรูปก็อยู่ครองวัดนานหลายพรรษา จวบจนมาถึงยุคสมัยของพระครูอนุรักษ์สัจธรรม (หลวงปู่จริง สุวณฺณโชโต) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเพชรบุรี ท่านได้ช่วยเหลือชุมชนสังคมประเทศชาติเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสมากมาย จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลทุ่งมน ปกครองคณะสงฆ์ทั้งตำบลทุ่งมน และในฐานะเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดเพชรบุรีได้ดำรินำพาคณะพระภิกษุสงฆ์ที่บวชอยู่ด้วยกันในยุคนั้น พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์บอกบุญญาติโยมให้พุทธศาสนิกชนทุกท่านร่วมสร้างกุฎิสงฆ์ด้วยไม้หลังใหญ่ 2 ชั้น จำนวน 12 ห้อง สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2492 (มีสลักปีที่สร้างเสร็จไว้ที่หน้าบันของกุฎิ) และ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2492 สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ได้ออกหนังสือแต่งตั้งให้เจ้าอธิการจริง สุวณฺณโชโต วัดเพชรบุรี ตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นอุปัชฌายะในเขตตำบลทุ่งมน มีตำแหน่งหน้าที่เป็นประธานในการให้บรรพชาอุปสมบท ตามบทบัญญัติแห่งสังฆาณัติระเบียบพระอุปัชฌายะ พ.ศ. 2487 หลวงปู่จริง สุวณฺณโชโต ได้นำพาศิษยานุศิษย์ทั่วทุกสารทิศ ร่วมสร้างสาธารณูปการต่าง ๆ เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาท และอื่น ๆ อีกมากมายตลอดชีวิตของท่าน และเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2515 หลวงปู่จริงได้มรณภาพลงด้วยโรคชราอย่างสงบ
หลังจากหลวงปู่จริงได้มรณภาพแล้ว คณะสงฆ์วัดเพชรบุรีและญาติโยมพุทธศาสนิกชน นำโดยนายบรัน บานบัว กำนันตำบลทุ่งมน ได้อาราธนานิมนต์พระครูประสาทพรหมคุณ (หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ) มาพำนักจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดเพชรบุรีสืบต่อไปจนท่านมรณภาพละสังขาร เมื่อวันที่ 5 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 และในยุคสมัยของหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ ถือได้ว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองมาก หลวงปู่หงษ์ท่านสร้างชื่อเสียงให้วัดเพชรบุรีได้เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องที่หลวงปู่หงษ์ได้นำพาให้ทุกคนอนุรักษ์ป่าไม้หลายพันไร่ ขุดสระเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ สร้างฝายกั้นน้ำเอาไว้ใช้ในหน้าแล้ง จนได้รับพระราชทานธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2540 และสุดท้ายของชีวิตหลวงปู่หงส์ ก่อนมรณภาพหลายปีได้มีการเขียนบันทึกข้อความพินัยกรรมไว้ว่า ขอให้ศิษยานุศิษย์บรรจุสังขารของหลวงปู่ไว้ในโลงแก้วให้ศิษยานุศิษย์ได้กราบสักการะบูชาตลอดไป
ข้อมูลอ้างอิง : https://srn.onab.go.th/สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์
Surin Provincial Office of Buddhism ,สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์,