วัดกลางสุรินทร์

     วัดกลางสุรินทร์ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ได้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อใดผู้ใดเป็นผู้สร้าง เจ้าอาวาสองค์แรกและองค์ต่อ ๆ มามีชื่ออย่างไรบ้าง ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนแต่สถานที่ตั้งวัดนั้นพอมีเหตุผลที่น่าเชื่อดังนี้เมืองสุรินทร์มีกำเนิดมาแต่ครั้งใด นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า หลายร้อยปีมาแล้วมีชื่อเดิมว่า ไผทสมัน ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2306 เชียงปุมซึ่งเดิมอยู่บ้านเมืองที ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระสุรินทร์ภักดี และย้ายมาอยู่ที่ไผทสมัน เมืองนี้จึงได้ชื่อว่าเมืองสุรินทร์ ตามบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองในการอพยพครั้งแรก สันนิษฐานว่า ได้เริ่มกำหนดตั้งสถานที่หลักเมืองขึ้นโดยถือเนื้อที่ส่วนกลางของเมือง กล่าวคือประมาณอาณาเขตภายในกำแพงคูเมืองชั้นใน จากทิศตะวันออกจดทิศตะวันตก และจากทิศเหนือจดทิศใต้ มีศูนย์กลางตรงที่ตั้งหลักเมืองในปัจจุบันพอดี ถนนสายนี้เกิดขึ้นในสมัยหลัง ส่วนจวนเจ้าเมืองนั้น ตั้งเยืองจากศาลเจ้าหลักเมืองมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตรงบริเวณตลาดเก่า ตรงหน้าวัดกลางปัจจุบัน หรือบริเวณหลังโรงแรมเมมโมเรียลทั้งหมดเป็นบริเวณจวนเจ้าเมืองมาแต่เดิม แต่ปัจจุบันนี้เป็นที่ของเอกชนทั้งหมด วัดกลางเริ่มได้รับการก่อสร้างขึ้นในสมัยนี้ เนื่องจากตั้งในเนื้อที่แนวเดียวกับจวนเจ้าเมือง ด้านทิศตะวันออกขนานกับจวนเจ้าเมือง โดยมีทางขั้นกลางระหว่างจวนเจ้าเมืองกับวัด ปัจจุบันทางสายนี้ คือถนนธนสารซึ่งเป็นทางสายเดียว ที่ตัดกลางเมืองทอดจากกำแพงด้านเหนือจดด้านใต้ และมีถนนสายหลักเมืองผ่ากลางจากตะวันออกสู่ตะวันตก ตัดกันเป็นสี่แยกหลักเมือง ถนนสองสายนี้เป็นถนนดังเดิมของเมืองสุรินทร์การวางผังเมืองของเจ้าเมืองสุรินทร์ เข้าใจว่า ได้เพ่งถึงจุดศูนย์กลางของตัวเมืองและสร้างจวนในบริเวณดังกล่าว ที่แห่งนี้เป็นเนินสูง

     มีข้อมูลยืนยันว่า เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรกเป็นผู้สร้างวัดกลางสุรินทร์ โดยมีเหตุผลประกอบดังนี้ หลังจากเชียงปุมได้รับพระราชทานยศและตำแหน่งกลับมาสู่บ้านเดิมที่เมืองที และเห็นว่าที่บ้านเมืองทีเป็นบ้านเล็ก ชัยภูมิไม่เหมาะสม จึงย้ายมาตั้งเมืองที่คูประทาย เมื่อกำหนดที่ตั้งจวนแล้ว ได้ดำเนินการวางผังสร้างวัดเคียงข้างกับเขตจวน ทางทิศตะวันออกการตั้งวัดนี้ น่าจะเป็นการเลียนแบบข้าราชการทหารในสมัยนั้นที่กลับจากการทำศึกสงครามจะมีการสร้างวัด ซึ่งการสร้างวัดนี้แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ก็สร้างมาก ข้าราชบริพารก็สร้างเช่นกัน จนมีคำกล่าวในสมัยนั้นว่า “สร้างวัดให้ลูกเล่น” เจ้าเมืองสุรินทร์ได้สร้างวัดขึ้นเป็นความนิยมตามสมัยนั้น เป็นการเลียนแบบจากส่วนกลางก็ได้ เจ้าเมืองอาจตั้งความประสงค์ว่า เมื่อสร้างเมืองก็สร้างวัดเป็นคู่บ้านคู่เมืองด้วย จึงกำหนดพื้นที่วัดกลางติดกับเขตจวนการปฏิบัติราชการในสมัยนั้น ไม่มีศาลากลางเป็นเอกเทศจะใช้จวนเป็นที่ว่าราชการ เมื่อมีการชุมนุมเรื่องข้าราชการจะใช้บริเวณวัดเป็นที่ชุมนุมเป็นความสะดวกสบาย รวมถึงเป็นที่ประชุมของทางราชการในสมัยนั้น และมีปรากฏซากอิฐเก่าที่ “โคกโพธิ์” คือบริเวณตั้งโรงเรียนราษฎร์บำรุงว่า เคยเป็นที่ตั้งวัดมาแต่เดิม เมื่อพระสุรินทร์มาสร้างเมืองแล้ว มีการวางผังเมืองและกำหนดที่วัด ท่านเจ้าเมืองอาจโยกย้ายวัดนี้มาตั้งเป็นวัดกลางก็ได้ ทั้งนี้โดยเหตุผลตามคติพื้นบ้านถือว่า การสร้างวัดต้องให้อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน จึงจะเป็นมงคล วัดอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ถือว่าเป็นอัปมงคล วัดอยู่ทางทิศเหนือหรือใต้หมู่บ้านไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย อาจจะเป็นเพราะเหตุที่เจ้าเมืองสร้างจวนอยู่ทางทิศตะวันออกวัด จึงย้ายวัดจากทิศตะวันตกมาตั้งทิศตะวันออก แต่ทั้งนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานอาจจะร้างไปเอง และวัดกลางอาจตั้งขึ้นใหม่ได้ แต่เหตุผลที่ยืนยันมานั้นพอกล่าวได้ว่า วัดกลางเกิดในสมัยพระสุรินทร์คนแรกแน่นอน

แหล่งศิลปกรรมที่สำคัญของวัดกลางสุรินทร์

พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองช้าง  เป็นพระธาตุที่งดงาม ภายในพระธาตุเจดีย์ศรีเมืองช้างจะมีพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปสำคัญๆ ของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งศิลปกรรมที่สะท้อนความเป็นสุรินทร์ นอกจากนี้ชั้นบนสุดยังเป็นสถานที่จุดชมวิวที่มองเห็นเมืองสุรินทร์ได้ถึง 360 องศา

อุโบสถโบราณ ที่สร้างด้วยอิฐโบกปูนแบบโบราณ ไม่มีปูนซีเมนต์สมัยใหม่เช่นปัจจุบัน เป็นโครงสร้างที่สวยงามในแบบสมัยโบราณ ภายในโบสถ์ ประดิษฐานพระพุทธรูป เพื่อกราบไหว้บูชาขอพร

ข้อมูลอ้างอิง : https://srn.onab.go.th/สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์
Surin Provincial Office of Buddhism ,สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์,